วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เมื่อใดไม่ควรออกกำลังกาย ธารดาว ทองแก้ว

การออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอจะซาบซึ้งในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี บางคนบอกว่าการออกกำลังกายเหมือนยาเสพติดชนิดหนึ่ง เพราะถ้าประพฤติปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรหรือเป็นนิสัยแล้ว หากไม่ได้ออกกำลังกายสักวันจะรู้สึกไม่ค่อยสดชื่นเท่าที่ควร ซึ่งเป็นความจริง (เพราะร่างกายไม่ได้หลั่งสารสุข ‘เอนเดอร์ฟินส์’ ออกมา)

อย่างไรก็ตาม แม้การออกกำลังกายจะมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายมากมายนานัปการ แต่ก็มีหลายกรณีที่เราควรระมัดระวัง หรืองดออกกำลังชั่วคราว ในภาวะใดภาวะหนึ่งต่อไปนี้คือ

1. เจ็บป่วยไม่สบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไข้หรือมีอาการอักเสบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
2. หลังจากฟื้นไข้ใหม่ ๆ ที่ร่างกายอ่อนเพลียอยู่ หากออกกำลังกายในช่วงนี้ จะทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนเพลียและหายช้า
3. หลังจากกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ เพราจะทำให้เลือดในระบบไหลเวียนถูกแบ่งไปใช้ในการย่อยอาหาร เพราะฉะนั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนที่ออกกำลังกายก็จะลดลง ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ และเป็นตะคริวได้ง่าย
4. ช่วงอากาศร้อนและอบอ้าวมาก เพราะร่างกายจะสูญเสียเหงื่อและน้ำมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือเป็นลมหมดสติได้ (สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแกร่งจริงอย่างนักกีฬา)
อาการที่บ่งบอกว่าควรหยุดออกกำลังกาย
ในบางกรณีที่ร่างกายอาจอ่อนแอลงไปชั่วคราว เช่น ภายหลังอาการท้องเสีย อดนอน การออกกำลังกายที่เคยทำอยู่ตามปกติอาจจะกลายเป็นหนักเกินไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีอาการดังกล่าวต่อไปนี้ แม้เพียงอาการเดียวหรือหลายอาการ ควรจะหยุดออกกำลังกายทันที นั่นคือ
1. รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ
2. มีอาการใจเต้นผิดปกติ
3. อาการหายใจขัดหรือหายใจไม่ทั่วถึง
4. อาการเวียนศีรษะ
5. อาการคลื่นไส้
6. อาการหน้ามืด
7. ชีพจรเต้นเร็วกว่า 140 ครั้งต่อนาที (ในผู้สูงอายุ) หรือ 160 ครั้งต่อนาที (สำหรับหนุ่มสาว)
จำไว้ว่าหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ต้องหยุดออกกำลังกายทันที และนั่งพักหรือนอนพักจนหายเหนื่อย และไม่ควรออกกำลังต่อไปอีกจนกว่าจะได้ไปพบแพทย์ หรือจนกว่าร่างกายจะมีสภาพแข็งแรงตามปกติ

ออกกำลังกายอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ธารดาว ทองแก้ว
ก่อนที่จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราทุกคนควรจะศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ เอาไว้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการคิด ตัดสินใจ หรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
เรื่องการออกลังกายก็เช่นกัน แม้จะดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ธรรมดา ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ เห็นคนอื่นเขาวิ่ง ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิก ซึ่งเป็นการออกกำลังกาย ฯลฯ กันสนุกสนาน วันดีคืนดีนึกสนุกขึ้นมาอยากทำบ้าง ก็ลุกขึ้นมาทำตาม ไม่ได้เด็ดขาด โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ค่อนข้างหนัก เพราะต้องทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงมาก และด้วยเวลาที่ต่อเนื่องกันนานพอสมควรดังนั้น ผู้ที่สนใจจะเริ่มออกกำลังกายแบบนี้ จึงต้องมีการเตรียมตัวอย่างมีขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หรือผู้ที่เคยออกกำลังกายบ้างแต่หยุดไปนานแล้ว ก็จะต้องเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ เริ่มทำด้วยความระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่ายมาก อย่างน้อยก็มีอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก หรือกล้ามเนื้ออักเสบ ฯลฯ ซึ่งจะพบได้บ่อยมาก
การออกกำลังกายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรดำเนินไปตามหลักการต่อไปนี้คือ
1. ต้องใช้วิธีค่อยทำค่อยไป คือเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายแบบเบาๆ ก่อนสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายที่หนักขึ้น เช่น เดินเร็วๆ ก่อนในระยะแรก เมื่อร่างกายเคยชินหรืออยู่ตัวแล้ว จึงค่อยขยับเป็นการวิ่งเหยาะๆ ฯลฯ
2. ต้องให้ทุกส่วนของร่างกายมีการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ออกกำลังกายแต่เพียงเฉพาะส่วน ไม่เช่นนั้นร่างกายก็จะไม่แข็งแรงสมบูรณ์อย่างแท้จริง (อ่านหมอชาวบ้านฉบับ 265 เดือนพฤษภาคม)
3. การออกกำลังกายต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ จะทำทุกวัน ทุก 2 วัน หรือ 3 วัน ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน แต่ควรออกกำลังกายให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แล้วถ้าหากไม่มีความจำเป็นหรือเหตุขัดข้องใดๆ ควรออกกำลังกายในเวลาเดียวกันทุกครั้งก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งอาจจะเป็นเวลาเช้า หรือเวลาเย็นก็ได้
4. ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคข้อต่างๆ หรือมีความผิดปกติของหลอดเลือด ฯลฯ ก่อนออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่ว่าจะออกกำลังกายได้ไหม หรือควรจะออกกำลังกายแบบใด
อย่าลืมว่าถ้าเราประเมินสภาพร่างกายของตัวเองผิดพลาด จะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพมากขึ้น และในความเป็นจริง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมากพอสมควรสำหรับผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น